วัดชะแม
วัดชะแม ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓ บ้านชะแม ถนนเขาแดง – ระโนด หมู่ที่ ๕ ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๘ ไร่ ๒๓ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๖๕ เมตร ติดต่อกับทางเดินสาธารณะ ทิศใต้ยาว ๙๔ เมตร ติดต่อกับทางเดินสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว ๑๔๕ เมตร ติดต่อกับทางหลวงแผ่นดินสายเขาแดง – ระโนด ทิศตะวันตกยาว ๑๓๕ เมตร ติดต่อกับทางเดินสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบกลางหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๙ โครงสร้างคอนกรีต หน้าต่างมีลวดลายกนก เป็นอุโบสถหลังใหม่ ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๙๑ โครงสร้างไม้ พื้นคอนกรีต กุฏีสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้และคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถองค์ใหญ่ ๑ องค์ องค์เล็ก ๑ องค์
วัดชะแม สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๔๒ เดิมเรียกว่า “วัดชะแม่” หรือ “วัดชะแมะ” โดยมีเจ้าเถรโพธิเป็นหัววัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ สำหรับการศึกษานั้น ทางวัดได้ร่วมกับชาวบ้านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นนับว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกในตำบลดีหลวง ทำเนียบเจ้าอาวาส
เจ้าอาวาส มี ๑๐ คือ รูปที่ ๑ พระเถรโพธิ รูปที่ ๒ พระสังข์ รูปที่ ๓ พระหิ้น รูปที่ ๔ พระต่าน รูปที่ ๕ พระขาว รูปที่ ๖ พระเกตุ, พระกลิ้ง, พระแก้ว, พระนุ่น พ.ศ. ๒๔๘๐ รูปที่ ๗ พระเคว็จ เตชปุญฺโญ พ.ศ. ๒๔๘๕ รูปที่ ๘ พระนิตย์ สุวิชาโน พ.ศ. ๒๕๑๐ รูปที่ ๙ พระเทศ พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘ รูปที่ ๑๐ พระอธิการเลื่อน ฆงฺคสฺสโร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ปัจจุบัน วัดชะแม มีพระภิกษุจำพรรษา จำนวน ......๗....รูป ความเชื่อ บ้านชะแมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยต้นๆ มีหลักฐานการเล่าตำนานเจ้าแม่อยู่หัว เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา มีพระหน่อโอรสของเจ้าเมืองใด และได้พลัดพรากจากพระราชาและพระราชินิ น่าจะเป็นพระเจ้ารามสุริยวงศ์ และพระนางปทุมรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเมืองหนึ่ง และได้มาอาศัยอยู่กับตายาย ชื่อตาพรหม ยายจัน และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี เป็นที่รักใคร่แก่ผู้พบเห็นและบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นเด็กมีอัธยาศัยดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน บางคนเดือดเนื้อร้อนใจ เจ็บไข้ได้ป่วย มีความทุกข์ มีโอกาสพูดคุยกับพระหน่อตามอัธยาศัย ก็สามารถหายไข้คลายทุกข์ได้ บางคนปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อธิษฐานบนบานก็ได้ผลสำเร็จ ทำให้มีประชาชนทั่วไปต่างให้ความเคารพ ต่อมาเมื่อทราบถึงพระราชา และพระราชินี ก็ได้มารับพระหน่อกลับพระราชวัง ระหว่างทางได้สร้างพลับพลาพระราชินีก็ได้ทรงขออนุญาตต่อพระเจ้าอยู่หัวสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นกุศลและมอบให้ชาวบ้านละแวกนั้นที่จงรักภักดีต่อพระหน่อชื่อว่า วัดเจ้าแม่ ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดชะแม และเลื่อนไปทางทิศเหนือ ส่วนวัดเจ้าแม่เก่าปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนบ้านชะแม ตำบลดีหลวง มีต้นโพธิ์เป็นหลักฐาน บางคนมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้ไปบนบาลศาลกล่าวที่ต้นโพธิ์ ตามหลักฐานในพงศาวดารเมืองพัทลุงว่า ในสมัยออกขุนเทพตำรวจเป็นเจ้าเมืองพัทลุง (อำเภอสทิงพระ) มีผู้ศรัทธราสร้างเจดีย์วิหารหลายวัด หนึ่งในนั้น พระครูพิชัย ได้สร้างพระวิหารวัดชะแม